-เคยสงสัยกันมั้ย เวลาที่ได้ยินคำถามว่า ข้าราชการคนนี้ C ไหน C อะไร จริงๆ แล้ว C (ซี) คืออะไร ⁉️

C มาจากคำว่า Common Level หรือที่ภาษาราชการเรียกว่า ระดับมาตรฐานกลาง เป็นการกำหนดระดับตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 โดยมีทั้งหมด 11 ระดับ (C1 ถึง C11) ซึ่งจำแนกตามความยากและคุณภาพของงาน

ในปัจจุบัน “ไม่ได้ใช้ระบบซีแล้ว” โดยเปลี่ยนมาใช้ประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 หรือที่หลายคนนิยมเรียกว่า “ระบบแท่ง” มีรายละเอียดต่อไปนี้

ประเภทตำแหน่งข้าราชการพลเรือน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. ประเภทบริหาร : ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการและรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง กรม

2. ประเภทอำนวยการ : ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่ต่ำกว่าระดับกรม

3. ประเภทวิชาการ : ตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา

4. ประเภททั่วไป : ตำแหน่งที่ไม่ใช่ตำแหน่งประเภทบริหาร ตำแหน่งประเภทอำนวยการ และตำแหน่งประเภทวิชาการ

โดยแต่ละประเภทจะมีการกำหนดระดับตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญดังนี้

1. ประเภทบริหาร มี 2 ระดับ คือ ระดับต้น (รองอธิบดีกรมการปกครอง) และระดับสูง (อธิบดีกรมการปกครอง)

2. ประเภทอำนวยการ มี 2 ระดับ คือ ระดับต้น (นายอำเภอ/ผอ.กองคลัง/ผอ.กองการสื่อสาร/เลขานุการกรม) และระดับสูง (ปลัดจังหวัด/นายอำเภอ/ผู้ตรวจราชการกรม/ผอ.สำนัก/อธิการวิทยาลัยการปกครอง/ผอ.กอง)

3. ประเภทวิชาการ มี 5 ระดับ คือ ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ ระดับเชี่ยวชาญ และระดับทรงคุณวุฒิ (กรมการปกครอง มีตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญ เฉพาะในส่วนกลาง และไม่มีตำแหน่งระดับทรงคุณวุฒิ)

4. ประเภททั่วไป มี 4 ระดับ คือ ระดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส และระดับทักษะพิเศษ (กรมการปกครอง ไม่มีตำแหน่งระดับทักษะพิเศษ)

จากบทความข้างต้น เพื่อนๆ คงได้คำตอบกันแล้ว หากอยากรู้ว่าแต่ละประเภทตำแหน่ง หรือแต่ละแท่ง ในกรมการปกครอง (ส่วนภูมิภาค) มีตำแหน่งอะไรบ้าง เพื่อนๆ สามารถดูตามภาพประกอบได้เลยค่ะ


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar